
บทความ
แคชเมียร์ ในอ้อมกอดหิมาลัย
คุณดวงดาว สุวรรณรังษี...เรื่อง
คุณไพศาล เจริญจรัสกุล...ภาพ
การแรมทางสู่ดินแดนหิมาลัยถูกกำหนดขึ้นอีกครั้ง ที่นั่นคือดินแดนเหนือสุดของชมพูทวีป ณ ปลายเทือกเขาหิมาลัยด้านทิศตะวันตก ซึ่งเรียกกันว่า “แคชเมียร์” เพียงแต่เอ่ยชื่อแคชเมียร์ (Kashmir) เราก็มักจะคิดถึงภาพของความขัดแย้งระหว่างอินเดียและปากีสถาน ซึ่งทำสงครามแย่งชิงดินแดนนี้กันมาเป็นเวลายาวนาน บัดนี้ต่างได้ข้อยุติในการแบ่งแยกแคว้นออกไป อย่างไรก็ดี แคว้นจัมมู (Jammu) และแคชเมียร์ก็ยังเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยความแตกต่างอย่างที่สุดแห่งหนึ่งของอินเดีย เพราะทางด้านตะวันออกคือลาดักห์ (Ladakh) อันมีเมืองหลวงคือเลห์ (Leh) ซึ่งได้รับสมญานามว่า “ทิเบตน้อย” ชาวลาดักห์ส่วนใหญ่คือชาวทิเบตที่นับถือศาสนาพุทธ ส่วนทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของแคว้นจัมมู อันเป็นเมืองหลวงในช่วงฤดูหนาว ส่วนใหญ่จะเป็นฮินดู ส่วนตอนเหนือแถบชายแดนปากีสถานมักเรียกกันว่าแคชเมียร์ มีศรีนาการ์ (Srinagar) เป็นเมืองหลวงฤดูร้อน ส่วนใหญ่จะเป็นมุสลิม ซึ่งมีเชื้อสายจากชาวเปอร์เซียร์ที่อพยพเข้ามาเมื่อหลายร้อยปีก่อน

ศรีนาการ์ ราชนิเวศน์ฤดูร้อนของกษัตริย์โมกุล
แคชเมียร์มีที่ตั้งโอบล้อมด้วยภูเขาหิมะที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งวางตัวทอดยาวอยู่ทางด้านทิศตะวันออก ทำให้เมืองศรีนาการ์คือหุบเขาสวรรค์ที่เต็มไปด้วยสายน้ำและทะเลสาบมากมาย ทั้งยังอุดมสมบูรณ์ด้วยป่าสน สวนผลไม้ ทุ่งดอกไม้ในยามฤดูใบไม้ผลิ และอากาศที่หนาวเย็นตลอดทั้งปี เมืองศรีนาการ์จึงเป็นที่โปรดปรานของกษัตริย์ราชวงศ์โมกุล ซึ่งจะแปรพระราชฐานมาในยามฤดูร้อน และได้สร้างสวนแบบโมกุลไว้ที่เมืองนี้หลายแห่ง
องค์จักรพรรดิชาห์ฮาลกีร์ พระราชบิดาของกษัตริย์ชาห์จาฮานผู้สร้างทัชมาฮาล เคยกล่าวไว้ว่า ถ้าหากจะมีสวรรค์บนดิน
แคชเมียร์นี่แหละคือดินแดนสวรรค์ในอ้อมกอดของหิมาลัย และที่น่าประหลาดใจคือ แม้วันเวลาผ่านพ้นมานานหลายร้อยปี แคชเมียร์ก็ยังเป็นที่ใฝ่ฝันและมีบรรยากาศแสนโรแมนติก จนเป็นที่นิยมของคู่ฮันนีมูน
แรงบันดาลใจจากการแรมทางบนหลังคาโลกหลายครั้งหลายหนเป็นแรงผลักดันให้เราเดินทางไปแคชเมียร์ ขณะที่หิมะตกหนักและอากาศหนาวเย็นถึงขั้นติดลบเกือบ 10 องศาเซลเซียสในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์
บ้านเรือ วิมานลอยน้ำ
นับแต่ย่างก้าวแรกที่สนามบินศรีนาการ์ เราก็ได้รับการต้อนรับด้วยหิมะที่ขาวโพลนไปหมด ยานพาหนะของเราตลอดรายการคือรถจี๊ปที่พร้อมจะฝ่าฟันไปไหนไปกัน แต่ก่อนอื่นต้องไปเข้าที่พักอันเป็นบ้านเรือที่เลื่องลือของเมืองศรีนาการ์กันเสียก่อน และเจ้าของบ้านก็ต้อนรับแขกผู้มาเยือนให้อบอุ่นด้วยชาแคชเมียร์
กล่าวกันว่าใครก็ตามที่เดินทางมาถึงแคชเมียร์ หากไม่ได้พักแรมบนบ้านเรือแล้วก็เหมือนหนึ่งจะมาไม่ถึง เพราะเมืองศรีนาการ์เป็นดินแดนแห่งสายน้ำและทะเลสาบที่โอบล้อมด้วยภูเขา และบ้านเรือเปรียบเสมือนวิถีชีวิตวัฒนธรรมที่สืบทอดมาหลายชั่วคน มีประวัติความเป็นมาว่าชาวแคชเมียร์ส่วนใหญ่อพยพมาจากดินแดนเปอร์เซีย จึงแรมทางค้าขายกันโดยใช้เรือไม้เป็นบ้าน ล่องจากแม่น้ำมายังทะเลสาบดาล (Dal Lake) จนกระทั่งถึงยุคอาณานิคม ชาวอังกฤษก็มาดัดแปลงเรือเหล่านี้ให้กลายเป็นโรงแรมที่พัก ซึ่งได้รับความนิยมมากจนชาวแคชเมียร์สร้างบ้านเรือเป็นที่อาศัย พร้อมทั้งจอดริมฝั่งอย่างถาวรเรียงรายรอบทะเลสาบดาล นับเป็นโรงแรมลอยน้ำที่ไม่มีที่ใดในโลกเสมอเหมือนเลย
การตกแต่งภายในบ้านเรือนั้น ทั้งผนังและเพดานห้องใช้ไม้สนซีดาร์และต้นวอลนัทแกะสลักเป็นลวดลายอันวิจิตรสลับกับกระจกสี ใช้ผ้าม่านปักลวดลายดอกไม้สวยงามด้วยงานฝีมือที่เลื่องชื่อของชาวแคชเมียร์ เรือลำหนึ่งจะประกอบด้วยห้องพักราว 3 ห้อง และบางลำมีห้องพิเศษสำหรับคู่ฮันนีมูน เรือแต่ละลำจะมีห้องอาหารและห้องรับรองขนาดใหญ่สำหรับพักผ่อน ในยามค่ำคืนพ่อค้าชาวแคชเมียร์ก็จะมาเยี่ยมเยือน พร้อมด้วยงานฝีมือที่สวยงามมากมาย มาบริการนักช็อปกันถึงบนเรือเลยทีเดียว


นอกจากนี้แล้ว เรือทุกลำจะมีกัปตันเรือคอยดูแล บริการอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการเสิร์ฟอาหาร หรือคอยเติมเชื้อเพลิงในเตาผิงยามฤดูหนาวให้อบอุ่นเสมอ
เมื่อมาพักบ้านเรือริมทะเลสาบดาลแล้ว ก็ต้องลงไปนั่งเรือพายที่แสนคลาสสิกของชาวแคชเมียร์ ซึ่งเรียกกันว่า “ชิคารา” (Shikara) อันเป็นพาหนะที่สำคัญของพวกเขาซึ่งผูกพันกับสายน้ำที่ไหลมารวมกันเป็นทะเลสาบกว้าง ใจกลางท้องน้ำถึงกับทำเป็นแปลงสวนผักลอยน้ำ เสียดายที่มาหน้าหนาว จึงไม่ได้เห็นพืชผลและสวนผักสีเขียวชอุ่ม ตลอดจนตลาดน้ำริมทะเลสาบ แต่พ่อค้าทั้งหลายก็ยังอุตส่าห์พายเรือมาเสนอขายสินค้ากันถึงบ้านเรือเลยทีเดียว
และเมื่อพวกเรามีโอกาสกลับไปแคชเมียร์ยามฤดูร้อนอีกครั้ง ก็พบว่าการนั่งเรือชิคาราไปชมตลาดน้ำในยามเช้ามืดนั้นยิ่งเป็นสิ่งพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศนั่งเรือพายไปในทะเลสาบที่งดงามตั้งแต่ย่ำรุ่ง จนไปสว่างที่ตลาดในคลองซึ่งเต็มไปด้วยเรือพ่อค้าที่นำพืชผักและอาหารมาขายแลกเปลี่ยนกัน ตลอดจนภาพชีวิตริมทะเลสาบที่ยังสัญจรกันด้วยเรือพาย ในสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติมากทีเดียว

หัตถศิลป์แคชเมียร์ในย่านเมืองเก่า
หนึ่งในเรื่องชื่อลือชาของชาวแคชเมียร์คืองานศิลปหัตถกรรม โดยเฉพาะงาน “เปเปอร์มาเช” ซึ่งทำจากกระดาษอัดเป็นรูปทรงต่างๆ บ้างก็เป็นภาชนะ กล่องใส่ของ แล้วทาสีวาดลายอย่างวิจิตร ราวกับจำลองภาพชีวิตธรรมชาติที่งดงามมาบันทึกไว้ในงานศิลปะที่สืบทอดกันมาหลายชั่วคน
เช่นเดียวกับงานผ้าปักเป็นลวดลายดอกไม้ที่ทำให้ฉันจินตนาการถึงความงามของแคชเมียร์ในฤดูร้อนได้โดยไม่ยากเย็น แต่ก็อดประหลาดใจไม่ได้ว่า งานปักผ้าที่สวยงามละเอียดลออเหล่านี้ถูกปักร้อยด้วยฝีมือของชายชรา ผู้ใช้ชีวิตบั้นปลายที่เหลืออยู่น้อยเต็มทีทุ่มเทลงไปกับงานฝีมือ แต่ละ
ชิ้นต้องใช้เวลาอย่างยาวนานกว่าจะสรรค์สร้างให้แล้วเสร็จ และเป็นไปได้ที่มันอาจเป็นงานฝีมือที่เหลืออยู่ไม่มากนัก เพราะนับวันจะหาผู้สืบ ทอดได้อย่างยากยิ่ง
งานฝีมือเหล่านี้มิใช่เป็นเพียงสินค้าที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยวเท่านั้น มันคืองานศิลปะที่สืบทอดมาจากดินแดนเปอร์เซียเมื่อหลายร้อยปีมาแล้ว ดังปรากฏหลักฐานการตกแต่งประดับประดาบนผนังของมัสยิดชาห์ฮามาดันอันเก่าแก่ของศรีนาการ์ ซึ่งภายนอกสร้างด้วยไม้ทั้งหลัง และยังคงฝีมือไม้แกะสลักที่งดงามไว้ด้วย
ถ้าพูดถึงมัสยิดเก่าแก่และมีความโดดเด่นทางด้านสถาปัตยกรรมอีกแห่งหนึ่งก็ต้องไปชมมัสยิดจามี (Jami Mosque) ซึ่งถือว่าเป็นมัสยิดกลาง รอบๆ คือย่านการค้าขายของท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องทองแดง เครื่องจักสาน ส่วนภายในนั้นคือห้องโถงที่อลังการด้วยเสาไม้ขนาดใหญ่ถึง 378 ต้น ทำให้มัสยิดแห่งนี้มีโครงสร้างที่เป็นเอกลักษณ์ยิ่ง
มัสยิดอีกแห่งของแคชเมียร์คือฮัซราบาล (Hazrtbal Mosque) มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นที่บรรจุเส้นเกศาขององค์ศาสดาพระโมหะหมัด บ้างก็เรียกกันว่ามัสยิดขาว ตั้งอยู่ริมทะเลสาบดาล มีภูเขาเป็นฉากหลัง และยิ่งน่าประทับใจในบรรยากาศยามเย็นอันเป็นช่วงเวลาสวดประจำวันของชาวมุสลิม
การที่ได้มาเดินอยู่ในเมืองเก่าของศรีนาการ์ทำให้ฉันได้เห็นภาพชีวิตความเป็นอยู่และบรรยากาศของบ้านเมือง ซึ่งให้ความรู้สึกเป็นเปอร์เซียมากเสียยิ่งกว่าอินเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน้าตาผู้คน ตลอดจนการแต่งกายของชาวแคชเมียร์ และยิ่งในช่วงฤดูหนาวเช่นนี้ พวกเขาจะแต่งตัวคล้ายกันหมด ด้วยเสื้อคลุมที่มองดูเผินๆ ก็คล้ายกับชุดคลุมท้อง ทีแรกฉันก็สงสัยว่าผู้ชายเมืองนี้ทำไมพุงป่องกันจังเลย แท้ที่จริงแล้วเขามีของสำคัญอยู่ข้างในนั่นเอง


“นี่คือภรรยาคนที่สองของผม” ชายแคชเมียร์เฉลยข้อเท็จจริง พร้อมทั้งเปิดเสื้อคลุมให้เห็นว่าในมือที่เขากุมไว้ตลอดเวลาคือตะกร้าใบเล็กๆ ซึ่งมีหม้อดินซ้อนอยู่ และในหม้อก็มีถ่านจุดไฟแดงวาบ นี่คือเตาผิงเคลื่อนที่ที่เขายกย่องให้เป็นภรรยาคนที่สอง คราวนี้ฉันก็หายสงสัยแล้วเมื่อเห็นตะกร้าและหม้อดินวางขายอยู่ทั่วไปตามตลาดร้านค้า
เมืองศรีนาการ์เป็นชื่อที่มีความหมายถึงเมืองที่สวยงาม ด้วยทะเลสาบดาลอันครอบคลุมผืนน้ำกว้าง อีกทั้งแม่น้ำเจลุมที่โอบล้อมเมืองศรีนาการ์จนราวกับเมืองนี้คือเกาะกลางน้ำ การลงไปนั่งเรือชิคาราล่องแม่น้ำทำให้ได้เห็นภาพอีกด้านหนึ่งของเมืองเก่า ซึ่งเรือจะลอดสะพานถึง 9 แห่ง โดยเริ่มต้นที่สะพานซีโรบริดจ์ ซึ่งมีทั้งสะพานเก่าที่เก็บไว้ให้คนเดินและสะพานใหม่สำหรับรถยนต์ และสองฝั่งแม่น้ำที่ชาวแคชเมียร์ส่วนหนึ่งยังใช้เรือเป็นบ้านเหมือนเมื่อ 100 ปีที่แล้ว แม้ว่าส่วนใหญ่จะหยุดการเดินทางทางน้ำขึ้นไปสร้างบ้านเมืองใหญ่โตบนฝั่งกันเกือบหมดแล้วก็ตาม แต่ชีวิตที่ผูกพันระหว่างคนกับสายน้ำยังคงดำเนินต่อไปในศรีนาการ์