top of page
Misty Woodland

ดวงดาว สุวรรณรังษี

บทความ

Greenland

ก่อนถึงเวลาน้ำแข็งจะละลาย

คุณดวงดาว สุวรรณรังษี...เรื่อง

คุณไพศาล เจริญจรัสกุล...ภาพ

      ชั่วชีวิตการเดินทางกว่า 30 ปี ฉันคงเหลือสถานที่ที่อยากเดินทางไปสัมผัสอีกไม่มากนัก หนึ่งในดินแดนที่ใฝ่ฝันนั้นคือกรีนแลนด์ อาณาจักรน้ำแข็งแห่งขั้วโลกเหนือ และสิ่งที่จุดประกายให้เดินทางในช่วงปลายฤดูหนาว คือเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ก็ด้วยคำพยากรณ์ในการเกิดแสงเหนือ หรือออโรรา ว่าจะมีโอกาสเห็นมากยิ่งกว่าทุกปี

      ที่นั่น...กรีนแลนด์ ดินแดนอาร์กติก จึงเป็นที่หมายที่ฉันอยากเดินทางไปก่อนถึงเวลาที่น้ำแข็งจะละลาย...

ขึ้นเหนือสู่กรีนแลนด์

      กรีนแลนด์มีที่ตั้งอยู่ในมหาสมุทรอาร์กติก รายล้อมด้วยทวีปอเมริกาเหนือ และยุโรป แม้ว่าตามภูมิศาสตร์จะอยู่ใกล้กับแคนาดา ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของทวีปอเมริกาเหนือ ทว่ากรีนแลนด์เป็นเขตปกครองตัวเองของประเทศเดนมาร์ก จึงนับว่าอยู่ในกลุ่มทวีปยุโรป ดังนั้นการเดินทางที่สะดวกที่สุด เราจึงไปเริ่มต้นกันที่เมืองหลวงโคเปนเฮเกนของเดนมาร์ก โดยการขอวีซ่า Shengen พร้อมกับการระบุว่าจะเดินทางไปกรีนแลนด์ และวีซ่านี้ยังสามารถเดินทางไปไอซ์แลนด์ได้ด้วย

      ก่อนเดินทาง 2 สัปดาห์ ฉันชวน ดร. พัชราภรณ์ ปัญญาวุฒิไกร หรือเปิ้ล ซึ่งเดินทางด้วยกันมาแล้วหลายครั้งหลายหน ให้ร่วมทางสำรวจกรีนแลนด์ และยังขอให้ช่วยติดต่อการเดินทาง ให้เส้นทางในฝันเป็นจริงขึ้นมาให้ได้

      “เป้าหมายสำคัญคืออยากเห็นภูเขาน้ำแข็ง ชมแสงเหนือ และนั่งสุนัขลากเลื่อน...”

      ฉันบอกโจทย์ที่ต้องการ ตั้งใจจะไปท่องเกาะกรีนแลนด์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ในปลายฤดูหนาว ตามคำร่ำลือในหมู่นักเดินทางว่า ไปกรีนแลนด์ทั้งทีต้องไปสัมผัสประสบการณ์ The Big Arctic Five ให้ได้  Big ที่ 1 คือ Dog Sledding การนั่งสุนัขลากเลื่อน Big ที่ 2 คือ Northern Light หรือออโรรา ปรากฏการณ์แสงเหนือ Big ที่ 3 คือ Ice & Snow น้ำแข็งและหิมะ ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ มีทั้งธารน้ำแข็ง ภูเขาน้ำแข็ง เป็นต้น Big ที่ 4 คือ Pioneering People ผู้คนท้องถิ่นที่บุกเบิกเข้ามาอยู่ในอาร์กติก Big ที่ 5 คือ Whale ฝูงวาฬ ซึ่งมีแหล่งอาศัยอยู่รอบๆ กรีนแลนด์ และอพยพลงซีกโลกใต้ช่วงฤดูหนาว

IMG_2237.jpg
222A3702.jpg

      การเลือกเดินทางมาในช่วงปลายฤดูหนาว ก็เพราะเป็นโอกาสดีที่จะได้นั่งสุนัขลากเลื่อนและชมแสงออโรรา เพราะเมื่อย่างเข้าฤดูร้อน น้ำแข็งจะละลายจนสุนัขไม่สามารถลากเลื่อนได้ อีกทั้งกลางวันก็ยาวนานขึ้นจนกระทั่งเกิดพระอาทิตย์เที่ยงคืน ทำให้โอกาสที่จะได้เห็นแสงเหนือเป็นไปได้ยากมาก ส่วนการชมภูเขาน้ำแข็ง ช่วงเดือนมีนาคมก็เป็นช่วงที่เริ่มจะมีบ้างพอควร และการไปเยี่ยมชมชุมชนท้องถิ่นก็ยังทำได้ คงเหลือแต่การชมฝูงวาฬซึ่งพบเห็นได้ง่ายในช่วงฤดูร้อนเท่านั้น แต่การที่จะได้ชมถึง 4 ใน 5 ของ The Big Arctic Five ก็เยี่ยมยอดที่สุดแล้ว

      เราขึ้นเครื่องบินจากโคเปนเฮเกนสู่สนามบินนานาชาติของกรีนแลนด์ คือเมืองคังเกอรุสซวก (Kangerlussuaq) ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เรียกกันว่า Arctic Circle เป็นเมืองเดียวที่อยู่ลึกเข้ามาจากชายฝั่ง และมีโอกาสเห็นแสงเหนือได้มากกว่าเมืองชายฝั่งทะเล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเมืองที่มีแสงไฟสว่างไสว

      ช่วงเวลาบินจากโคเปนเฮเกนเป็นเวลาเช้า ใช้เวลาราว 4 ชั่วโมง ระหว่างทางจึงได้ชมภาพที่ชวนตื่นตาตื่นใจ เพราะจากชายฝั่งทะเลเหนือ เส้นทางบินเลียบฟยอร์ดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกในเขตนอร์เวย์ หลังจากนั้นเครื่องบินบ่ายหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ อันเป็นที่ตั้งของเกาะไอซ์แลนด์ ขึ้นเหนือไปเรื่อยๆ จนถึงปลายเกาะกรีนแลนด์ ดินแดนที่เวิ้งว้างไปด้วยหิมะขาวโพลน

      เกาะกรีนแลนด์มีรูปร่างคล้ายรวงผึ้งที่ยาวเรียว เนื้อที่ทั้งหมดปกคลุมด้วยภูเขาหิมะราวร้อยละ 85 เรียกกันว่า Greenland Ice Sheet ซึ่งเป็นแผ่นน้ำแข็งที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากแอนตาร์กติกา บางแห่งของกรีนแลนด์มีน้ำแข็งหนาถึง 3 กิโลเมตร มีเมือง 18 เมือง และชุมชนราว 11 หมู่บ้าน ตั้งอยู่ตามริมชายฝั่งทะเลตะวันตก กระจายลงมาทางใต้ปลายแหลมและชายฝั่งตะวันออก ไล่ขึ้นไปทางตะวันออกจนถึงเหนือสุดจะเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ และฟยอร์ดขนาดใหญ่ของเกาะกรีนแลนด์

สัมผัสแรกบนผืนแผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์

      เมื่อเราบินเข้าเขตเกาะกรีนแลนด์ ภาพที่ปรากฏเบื้องล่างคือผืนแผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์ที่ยิ่งใหญ่และเวิ้งว้าง มีเทือกเขาซับซ้อนปกคลุมด้วยหิมะขาว มีหุบเขาเล็กๆ ที่ตั้งของสนามบินและเมืองคังเกอรุสซวก ซึ่งเดิมทีเป็นที่ตั้งของฐานทัพอเมริกัน ปัจจุบันเป็นศูนย์กลางของกิจกรรมท่องเที่ยวผจญภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเข้าไปสัมผัสอาณาจักรน้ำแข็งโดยทางรถยนต์และการเดินเท้า บริเวณนี้ยังถือเป็นจุดชมแสงเหนือที่ดีและมีโอกาสที่จะเห็นได้มากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก นอกจากนั้นแล้วก็ยังเป็นแหล่งชมสัตว์ป่าเขตอาร์กติก คือมูสก์ออกซ์ (Musk Ox) และกิจกรรมกลางแจ้งที่โด่งดังมากก็คือการนั่งสุนัขลากเลื่อนทางไกล 160 กิโลเมตรสู่เมืองสิสิมิอุต (Sisimiut) ซึ่งอยู่ชายฝั่งตะวันตก

เมื่อลงเครื่องที่สนามบินซึ่งเล็กมาก เราก็เดินทางไปยังที่พัก

หลังจากนั้นก็ไปทัวร์ธารน้ำแข็งรัสเซล (Russell Glacier) ในช่วงบ่าย โดยมีรถหกล้อยกสูงของ World of Greenland : Arctic Circle ตระเวนรับลูกทัวร์จากโรงแรมหลายแห่ง แล้วก็นำเราไปทางทิศตะวันออกของเมือง บนถนนลูกรังเลียบไปตามแม่น้ำขึ้นไปจนถึงทะเลสาบ รถแล่นเข้าไปจนถึงด้านหน้าของธารน้ำแข็งซึ่งตั้งตระหง่านเป็นแนวกำแพงสูงราว 60 เมตร มีลานน้ำแข็งให้เดินข้ามเข้าไปสู่ด้านใน

222A2371.jpg
222A2626.jpg

      ธารน้ำแข็งรัสเซลก่อตัวขึ้นบนผืนแผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์ น้ำแข็งก่อตัวเป็นรูปลักษณ์ต่างๆ นานา บนยอดเขาปกคลุมทับถมด้วยหิมะและน้ำแข็งที่ทับถมกันเป็นพันๆ ปี หนักเป็นล้านๆ ตัน ตัวอย่างจากธารน้ำแข็งแห่งนี้จะมีหิมะทับถมสูงขึ้นปีละ 25 เมตร แต่บนธารน้ำแข็งนั้นมีร่องรอยผ่าแยกที่เปิดออกให้น้ำแข็งที่ละลายในฤดูร้อนกัดเซาะจนเกิดเป็นแอ่งน้ำและธารน้ำอยู่ข้างใต้ มันจึงไหลลงเขา พัดพาเอาหินกรวดตลอดจนก้อนหินขนาดมหึมาลงไป น้ำธารน้ำแข็งค่อยๆ เคลื่อนที่อย่างช้ามากๆ จนดูเหมือนไม่เขยื้อน นักวิทยาศาสตร์เคยเอากล้องบันทึกภาพต่อเนื่อง ทำให้มองเห็นการเคลื่อนที่ของธารน้ำแข็ง พร้อมๆ กับกัดเซาะหินผาไปด้วย มันกัดเซาะและพัดพาเอากรวดหินดินทรายมากมายไหลลงสู่แม่น้ำ รวมถึงก้อนน้ำแข็งขนาดใหญ่ที่ไหลออกท้องทะเล

      ตลอดเวลาที่เดินท่องไปในธารน้ำแข็งเป็นชั่วโมงๆ เราไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยกันเลย เพราะนอกจากเพลิดเพลินกับทิวทัศน์อันงดงามของประติมากรรมน้ำแข็งแล้ว เรายังได้เห็นความมหัศจรรย์ของน้ำแข็ง ธาตุที่น่าพิศวง มันโปร่งใส เปล่งแสงได้ ตามเวิ้งถ้ำในธารน้ำแข็งนั้นจะไล่จากสีขาวโพลนไปถึงสีน้ำเงินเข้ม ขึ้นอยู่กับว่าแสงตกกระทบพื้นผิวอย่างไรและทะลุทะลวงเข้าไปไกลแค่ไหน ดังนั้นเมื่อแสงอาทิตย์เดินทางลึกเข้าไปในน้ำแข็ง ผลึกของน้ำแข็งดูดซึมสีแดงของสเปกตรัม ก่อนจะสะท้อนของแสงออกมา มีแต่แสงสีน้ำเงินเท่านั้น นั่นคือความมหัศจรรย์ที่งดงามอย่างน่าพิศวง

222A3345.jpg
222A4346.jpg

เมืองแห่งภูเขาน้ำแข็ง แหล่งมรดกโลก

      เหนือขึ้นไปจากเส้นอาร์กติกราว 200 กิโลเมตร กรีนแลนด์แอร์นำเราบินขึ้นไปยังชายฝั่งทะเลตะวันตก ที่ตั้งของเมืองอิลูลิสแซต (Ilulissat) เมืองที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของกรีนแลนด์ รองจากเมืองหลวงนู้ก (Nuuk) และเมืองสิสิมิอุต ชื่อเมืองมีความหมายว่าภูเขาน้ำแข็ง (Iceberg) ด้วยเป็นที่ตั้งของฟยอร์ดน้ำแข็ง (Icefjord) ที่ยิ่งใหญ่ จนได้รับการประกาศให้เป็นแหล่งมรดกโลกมาตั้งแต่ พ.ศ. 2547

      พื้นที่ Ilulissat Icefjord ครอบคลุมอาณาบริเวณชายฝั่งด้านใต้ของตัวเมือง ลักษณะเป็นโขดหินผา ทอดยาวไปจนถึงตอนในสุดของชายฝั่งที่ถูกกัดเซาะจนเป็นอ่าวที่แหว่งเว้าเข้าไปในแผ่นดินด้านทิศตะวันออก ความยาวราว 60 กิโลเมตร นี่เองคือ Icefjord หรือที่เรียกกันในภาษาท้องถิ่นว่า Kangia ซึ่งเต็มไปด้วยก้อนน้ำแข็งและภูเขาน้ำแข็ง (Iceberg) อันมีที่มาจากธารน้ำแข็งเซอร์เมก คูยาลเลก (Sermeq Kujalleq) ทางด้านทิศตะวันออก ไหลลงสู่ท้องทะเลและมาออกทะเลเปิดบริเวณอ่าวดิสโก (Disko Bay) รวมพื้นที่ทั้งหมดของแหล่งมรดกโลกแห่งนี้ราว 4,000 ตารางกิโลเมตร

      ฟยอร์ดน้ำแข็งแห่งนี้ไม่มีถนนหนทางที่จะเข้าถึงได้ การจะเข้าชมทำได้โดยการนั่งเรือล่องชมภูเขาน้ำแข็ง ขึ้นเครื่องบินชมทางอากาศ และวิธีที่ง่ายที่สุดก็คือการเดินเข้าไปบนเส้นทางเดิน (Track Bridge) ซึ่งไม่ห่างจากตัวเมืองอิลูลิสแซตนัก เส้นทางทั้งหมดมีอยู่ 3 เส้นทาง เรียกชื่อตามสีในแผนที่ คือ เส้นทางสีเหลือง ความยาวราว 2.7 กิโลเมตร เส้นทางสีน้ำเงิน ยาวที่สุด 6.9 กิโลเมตร ส่วนเส้นทางสีแดงสั้นที่สุด 1 กิโลเมตร

      วันรุ่งขึ้น หลังอาหารเช้าแล้วเราก็นั่งแท็กซี่มายังจุดเริ่มต้นของเส้นทางเดินสีน้ำเงิน ซึ่งช่วงแรกๆ ทางเดินเป็นสะพานไม้ ปากทางมีป้ายแผนที่ เส้นทางมุ่งหน้าไปสู่เนินเขาข้างหน้าที่คาดว่าจะติดกับชายฝั่ง ช่วงนี้เดินกันสบายๆ ไปจนสุดเชิงเขา ตรงนี้ต้องออกแรงปีนป่ายขึ้นไปตามโขดหินสูงพอประมาณ แล้วเราก็ขึ้นมาอยู่บนปลายแหลม บริเวณนี้คือเซอร์เมอร์มิอุต (Sermermiut) แหล่งขุดค้นหลักฐานทางโบราณคดีอายุกว่า 4,000 ปี ที่บ่งบอกว่าบริเวณปากอ่าวฟยอร์ดน้ำแข็งอิลูลิสแซตนี้คือถิ่นฐานของมนุษย์ยุคหินที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งบนเกาะกรีนแลนด์

      จากปลายแหลมนี้คือจุดชมทิวทัศน์ที่ยิ่งใหญ่ของฟยอร์ดน้ำแข็งอิลูลิสแซต ซึ่งมีแนวภูเขาน้ำแข็งตั้งตระหง่านทอดยาวคู่ขนานกับชายฝั่งด้านใต้ มีเวิ้งน้ำที่เปิดเส้นทางให้เรือไม้สีแดงแล่นเข้ามาในฟยอร์ด ทว่าเส้นทางเดินสายสีน้ำเงินยังมีต่อไปบนแนวผา เป็นทางเดินที่ปีนป่ายขึ้นลงไปตามก้อนหินตะปุ่มตะป่ำ มีก้อนหินทาสีน้ำเงินวางห่างๆ กันให้เราแกะรอยทางเดินไป ตลอดทางที่เลียบหน้าผาจะมองเห็นฟยอร์ดน้ำแข็งเป็นภาพแนวพานอรามาไปโดยตลอด ยิ่งลึกเข้าไปก็จะกลายเป็นแผ่นน้ำแข็งปกคลุมท้องทะเลไปไกลสุดสายตา เพราะนี่คือปลายทางของธารน้ำแข็งเซอร์เมก คูยาลเลก (Sermeq Kujalleq) และธารน้ำแข็งอีก 2-3 แห่ง ที่นำพาแผ่นน้ำแข็งจำนวนมหาศาลลงมายังฟยอร์ดแห่งนี้

      เดินมาจนถึงทางแยกที่เส้นทางสายสีแดงมาบรรจบ เราก็วกลงเขาบนทางที่เป็นธรรมชาติ ภายใน 1 ชั่วโมงเราก็มาถึงหมู่บ้านสุนัขลากเลื่อน อาศัยที่มีรถเข้าออกบริเวณนั้นอยู่บ้าง จึงขอให้เขาเรียกแท็กซี่มารับกลับเข้าเมือง

© 2018 by Truenaturephotos. All Rights Reserved

bottom of page