
Traveller’s Guide
เขาไกรลาส ตั้งอยู่ในเขตปกครองพิเศษของจีน การเดินทางไปเขาไกรลาสที่สะดวกที่สุดนั้น เริ่มต้นได้จาก 2 เมือง คือ
1. จากเมืองกาฐมาณฑุ เนปาล
เป็นเส้นทางรถยนต์ที่สั้นที่สุด ปลอดภัยที่สุด และมีเพื่อนร่วมทางมากที่สุดในช่วงวันวิสาขบูชาอีกทั้งยังเป็นเมืองที่เพียบพร้อม ทุกด้าน ทั้งที่พัก อาหาร บริษัททัวร์
ร้านขายอุปกรณ์แค้มปิ้งและเครื่องใช้ ที่จำเป็นระหว่างเดินทาง
2. จากเมืองลาซา เขตปกครองพิเศษในจีน
มีบริษัททัวร์จัดแพ็กเกจเดินทางไปเขาไกรลาส แต่ก็ต้องรอจำนวนคนให้ครบตามที่บริษัทตั้งไว้ เช่น 8 คน จึงจะออกเดินทางได้ เส้นทางนี้ใช้ ระยะเวลาเดินทางนานกว่าเส้นทางแรกราว 3-4 วัน ในที่นี้จึงขอแนะนำเส้นทางที่สะดวกและปลอดภัยที่สุดคือเส้นทางแรก

การขอวีซ่า
สำหรับทริปนี้ไม่ต้องขอวีซ่าเข้าเนปาล เพราะอยู่ในเนปาล ไม่เกิน 3 วัน แต่ต้องขอวีซ่าเข้าประเทศจีน ที่สถานทูตจีนประจำประเทศไทย ถ.รัชดาภิเษก
โทร. 0-2245-7032, 0-2245-7036-40 ดูรายละเอียดที่ www.chinaembassy.or.th
การเดินทางกรุงเทพฯ - กาฐมาณฑุ
การบินไทยให้บริการทุกวัน วันละ 1 เที่ยว ดูรายละเอียดที่ www.thaiair.com สายการบิน Royal Nepal Airlines ให้บริการ วันจันทร์ ดูรายละเอียดที่
ข้อมูลติดต่อ
ควรซื้อแพ็กเกจทัวร์จากบริษัททัวร์ในกาฐมาณฑุเพราะการเดินทางไปเขาไกรลาสต้องมีทีมสนับสนุน เช่น พ่อครัว ทีมจัดการกางเต็นท์ ผู้ประสานงานตามด่านต่างๆ ฯลฯ
สิ่งที่ต้องเตรียม (นอกเหนือจากของใช้ส่วนตัว)
- แท่นชาร์จแบตเตอรีในรถยนต์
- ปลั๊กไฟแบบแผง เพื่อจะได้ชาร์จอุปกรณ์ไฟฟ้าได้หลายอย่างในเวลาเดียวกัน เพราะในทิเบตใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งมีช่วงเวลาสำหรับชาร์จไฟเพียงไม่กีี่ชั่วโมงเท่านั้น
- อุปกรณ์กันหนาว ขนไปให้เต็มที่ เพราะอากาศหนาวจริงๆ อุณหภูมิไม่สูงกว่า 5 องศาเซลเซียส
อาหารการกิน
ระหว่างทางมีร้านขายของเล็กๆ บางเมืองก็มีเพียงเต็นท์ถาวร ขายอาหารแห้งจำพวกบะหมี่สำเร็จรูปแต่ในการเดินทางไปกับบริษัททัวร์จะมีพ่อครัวทำอาหารให้ทุกมื้อ ทั้งนี้เราควรเตรียมผลไม้ เช่น ส้ม ติด ตัวไปด้วย
ระยะเวลาการเดินทาง
ควรใช้เวลาสำหรับทริปนี้ทั้งหมด 16 วัน คือ
วันแรก ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปกาฐมาณฑุ (ระดับความสูง 1,350 เมตร) ค้างที่กาฐมาณฑุ 1 คืน ช่วงบ่ายนี้สามารถซื้อข้าวของเครื่องใช้เพิ่มเติมได้จากย่านทาเมล
วันที่สอง ออกเดินทางจากกาฐมาณฑุโดยรถบัส เดินทางไปยังเมืองโคดารีชายแดนเนปาล (นั่งรถประมาณ 3 ชั่วโมง) แล้วผ่านพิธีการข้ามแดนเข้าไปยังเมืองจางมู จากนั้นจึงเปลี่ยนไปนั่งรถโฟร์วีลล์ไดรฟ์เดินทางสู่เมืองนยาลัม ( สูง 3,800 เมตร ) ใช้เวลาเดินทางประมาณ 5 ชั่วโมง ค้างคืนที่นยาลัม ในคืนนี้หลายคนอาจมีอาการแพ้ความสูง เพราะเดินทางไต่ระดับ ความสูงจาก 1,350 เมตร มาถึงระดับ 3,800 เมตรในวันเดียว จึงควรทำอะไรช้าๆ หายใจช้าๆ ลึกๆ จิบน้ำอุ่นเป็นระยะ และทำจิตใจให้สงบสบาย
วันที่สาม พักและค้างคืนในเมืองนยาลัมเพื่อปรับตัวกับระดับความสูง วันนี้เป็นวันพักผ่อน เดินเล่นชมเมือง ถ้ากังวลเรื่องอากาศที่จะ เบาบางลงเรื่อยๆ ที่เมืองนี้มีออกซิเจนกระป๋องจำหน่าย
วันที่สี่ ออกเดินทางไปยังเมืองซากา (สูง 4,640 เมตร) ใช้เวลาเดินทางประมาณ 7-9 ชั่วโมง คืนนี้พักในโรงเตี๊ยมเมืองซากา
วันที่ห้า ออกเดินทางไปยังเมืองปาร์ยัง (สูง 4,540 เมตร) ใช้เวลาเดินทางประมาณ 7-8 ชั่วโมง คืนนี้ตั้งแคมป์นอน
วันที่หก เดินทางสู่ทะเลสาบมานาซาโรวาร์ (สูง 4,700 เมตร) ใช้เวลาเดินทางประมาณ 6-7 ชั่วโมง คืนนี้ตั้งแคมป์ริมทะเลสาบ
วันที่เจ็ด ปรับตัวกับระดับความสูง โดยการเที่ยวชมวัดรอบทะเลสาบมานาซาโรวาร์์ค้างคืนในแคมป์เดิม
วันที่แปด (บริษัททัวร์จะจัดให้ตรงกับวันวิสาขบูชา)เดินทางไปยังเชิงเขาไกรลาสเพื่อร่วมพิธี Sakadawa แล้วค้างคืนในเมืองตาร์เชิน (สูง 4,560 เมตร) เชิงเขาไกรลาส
วันที่เก้าถึงวันที่สิบเอ็ด เดินรอบเขาไกรลาส โดยตั้งแคมป์พักระหว่างทาง 2 คืนสำหรับผู้ที่ไม่เดินรอบเขาไกรลาสเป็นเวลาของการพักผ่อนรอบทะเลสาบมานาซาโรวาร์
วันที่สิบสอง เดินทางจากทะเลสาบมานาซาโรวาร์ ไปยังเมืองปาร์ยัง ตั้งแคมป์พัก
วันที่สิบสาม เดินทางสู่เมืองซากา พักโรงเตี๊ยม
วันที่สิบสี่ เดินทางสู่เมืองนยาลัม พักโรงเตี๊ยม
วันที่สิบห้า เดินทางสู่เมืองกาฐมาณฑุ พักโรงแรมในย่านทาเมล
วันที่สิบหก เดินทางกลับ กาฐมาณฑุ-กรุงเทพฯ



อาการแพ้ความสูง
เป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่งว่าคนแข็งแรง เช่น นักไตรกีฬา จะไม่มีทางเกิดอาการแพ้ความสูง (High altitude sickness) เพราะใครๆ ก็อาจมีอาการนี้ได้เมื่ออยู่บนความสูงระดับ 3,000 เมตรขึ้นไป และอาการจะชัดยิ่งขึ้นในระดับความสูงตั้งแต่ 4,000 เมตร
อาการแพ้ความสูงเกิดจากระดับความดันอากาศและออกซิเจนลดลง อาการเริ่มต้นคือ เพลีย หายใจเร็ว ปวดหัว หลังจากนั้นก็จะคลื่นไส้ เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ท้องเสีย โดยทั่วไปถ้าได้พักปรับร่างกายสัก 1-2 วัน อาการนี้ก็จะหายไป แต่ถ้าเป็นมากจนถึงขั้นซึม ไอแล้วมีเสมหะเป็นเมือก เป็นฟอง หรือมีเลือดปน การตัดสินใจผิดปกติ เดินไม่ตรง รู้สึกเหนื่อยตลอดเวลา ก็ต้องลงสู่ระดับความสูงที่ต่ำกว่าทันที
การป้องกันคือ
- ตรวจร่างกายก่อนเดินทางไปในที่สูง
- จิบน้ำเรื่อยๆ เพราะเมื่ออยู่บนระดับความสูงมากๆ การหายใจจะเร็วขึ้น ทำให้ร่างกายเสียน้ำได้ง่าย
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่อย่างเด็ดขาด
- ห้ามกินยานอนหลับและยาแก้ไอ เพราะตัวยามีฤทธิ์กดระบบการหายใจ
- และหลักง่ายๆ อีกอย่างคือเดินสูงแล้วลงมานอนในที่ ที่ต่ำกว่า


