
บนเส้นทางสุดขอบขั้วโลกใต้ ฟอล์กแลนด์ - แอนตาร์กติกา
คุณไพศาล เจริญจรัสกุล...เรื่องและภาพ
สำหรับผมแล้ว แม้ว่าจะมีช่วงเวลาเพียงสั้นๆที่ได้ไปเยือนและสัมผัสกับดินแดนสุดขอบขั้วโลกใต้อย่างหมู่เกาะฟอล์กแลนด์และทวีปแอนตาร์กติกา แต่ทว่ามันก็เพียงพอกับความรู้สึกส่วนตัวของผมว่านี่คือหนึ่งในการเดินทางครั้งที่เยี่ยมยอดตลอดกาลทีสุดของผมทีเดียวเลยครับ
สู่ฟอล์กแลนด์แดนสมรภูมิในอดีต
ห่างจากชายฝั่งทะเลของหนึ่งในประเทศที่คลั่งไคล้ฟุตบอลมากที่สุดในโลกอย่างอาร์เจนตินา ออกสู่มหาสมุทรไป อีกประมาณ 480 กิโลเมตร นั่นคือที่ตั้งของหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ดินแดนในความดูแลและปกครองของอังกฤษ ซึ่งเป็นเป้าหมายแรกพร้อมๆกับการเป็นเป้าประสงค์หลักของการเดินทางไกลในทริปนี้
พอถึงสแตนเลย์ที่เป็นเมืองหลวงของหมู่เกาะแดนใต้ปลายสุดขั้วโลกของฟอล์กแลนด์ได้ ผมก็ออกเดินทางสำรวจเมืองทันทีตามธรรมเนียมปฏิบัติของผม สแตนเลย์เป็นเมืองเล็กๆที่เงียบสงบและน่าอยู่มากๆเลยครับ ผู้คนที่อาศัยอยู่บนเกาะก็ค่อนข้างบางตาจนบางคนแซวว่าประชากรของเจ้านกเพนกวินยังมีมากกว่าประชากรของมนุษย์ทั้งหมดบนเกาะนี้เสียอีก
ผู้คนที่นี่เขาก็น่ารักมากเช่นกัน นอกจากจะมีอัธยาศัยไมตรีดีแล้ว ยังยิ้มแย้มแจ่มใสให้กับนักเดินทางแปลกหน้า ( อย่างพวกผม ) อยู่ตลอดเวลาด้วย หลังจากทำตัวเป็นพระยาน้อยข่มเมืองจนจุใจแล้ว ผมก็รีบออกเดินทางไปยังสมรภูมิรบในอดีตระหว่างยักษ์ใหญ่ของยุโรปอย่างอังกฤษกับยักษ์เล็กในถิ่นอเมริกาใต้อย่างอาร์เจนตินาที่เฝ้าห้ำหั่นกันอย่างดุเดือดนานเกือบๆ 3 เดือนในสงครามชิงเกาะฟอล์กแลนด์ เมื่อปี พ.ศ. 2525 ซึ่งผมก็เชื่อว่าผู้คนส่วนใหญ่ยังคงจำกันได้
และผลสุดท้ายของสงครามเป็นอย่างไรผมคงไม่ขอกล่าวถึง แต่ที่ผมไปเห็นมากับตาก็คือ เศษซากรถถัง เครื่องบินรบ ตลอดจนอาวุธยุทธโธปกรณ์ต่างๆเป็นจำนวนมากยังคงถูกปล่อยทิ้งไว้อย่างเดิม เพื่อเป็นทั้งอนุสรณ์และเป็นเครื่องเตือนใจให้ทุกชาติทุกประเทศในโลกได้ตระหนักว่า “สงครามนั้นไม่เคยมีผู้ชนะที่แท้จริง มีแต่ผู้ที่แพ้มากกับแพ้น้อยเท่านั้น” ครับ

ตะลุยถิ่นเพนกวินราชันย์
เป้าหมายหลักประการที่ 2 ของการเดินทางไกลข้ามโลกมายังปลายสุดของทวีปอเมริกาใต้ก็ คือ การบุกเข้าไปเยี่ยมชมอาณาจักรของเจ้า King Penguin หรือ นกเพนกวินราชา ซึ่งอยู่ที่บริเวณปลายแหลมโวลันเทียร์ อันเป็นจุดรวมพลใหญ่ของเจ้านกเพนกวินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ชนิดนี้นับเป็นพันตัว
ผมดูจากแผนที่แล้ว แม้ว่าจะไม่ไกลก็จริงแต่ก็ใช้เวลาในการวิ่งรถนานถึง 4 ชั่วโมงด้วยรถโฟร์วิลหรือขับเคลื่อน 4 ล้อไปบนถนนกรวดหินตลอดเส้นทางไปจนสุดปลายแหลม ซึ่งเป็นจุดที่เราจะไปดูเพนกวินราชันย์กัน
แหลมโวลันเทียร์เท่าที่ผมดูๆแล้วมีลักษณะคล้ายๆกับคาบสมุทรครับ และบริเวณส่วนที่เป็นฮาเร็มของเจ้าคิงเพนกวินนั้นก็เป็นจุดที่เป็น “คอคอด” ที่เรียวและแคบโดยฝั่งหนึ่งเป็นชายหาดยาวรามๆ 3 กิโลเมตร ในขณะที่อีกฝั่งหนึ่งเป็นทะเล ส่วนด้านบนเป็นเนินหญ้าที่พวกเพนกวินมากระจุกตัวรวมกันอยู่ จากจุดจอดรถมองไปเห็นเจ้าเพนกวินตัวใหญ่ยักษ์ยืนเกาะกลุ่มกันอยู่ประมาณ 500 คู่ พร้อมกับลูกนกตัวอ้วนจ้ำม่ำขนเป็นสีน้ำตาลปุกปุยทั้งตัวอีกประมาณ 200 ตัว (ได้มั้ง) เจ้าพวกนี้เชื่องมากครับ เราเข้าไปดูเขาใกล้ๆแค่ 2 เมตรก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะตื่นกลัวพวกเราเลย พอพวกผมนั่งกันนิ่งๆคราวนี้ก็เป็นเจ้าตัวลูกตัวสีน้ำตาลกลมปุ๊กเป็นตุ๊กตาล้มลุกเองที่เดินเข้ามาหาพวกเราเอง พวกมันยังคงเข้ามาดูเหล่ากะเหรี่ยงจากไทยแลนด์ว่าทำไมหน้าตาแปลกๆจัง
เจ้าคิงเพนกวินมีความสูงราว 3 ฟุต และหนักถึง 15 กิโลกรัม จะจับคู่ผสมพันธุ์และมีลูกกันราว 2 ครั้งในรอบ 3 ปี โดยออกไข่เพียงครั้งละ 1 ฟองเท่านั้น และที่สำคัญที่สุดก็คือ ตัวแม่หรือพ่อนกจะต้องอุ้มกกไข่ไว้บนเท้านานถึง 14 เดือน!คิดดูเอาก็แล้วกันว่าตัวพ่อ-แม่จะลำบากขนาดไหนกว่าจะได้ลูกแต่ละตัว
สู่ฝันสุดท้ายที่แอนตาร์กติกา
ถึงตรงนี้ต้องขอบอกความจริงเรื่องหนึ่งก็คือ แอนตาร์กติกาทวีปสุดท้ายที่อยู่ใต้โลกของเราใบนี้ไม่ได้อยู่ในแผนการเดินทางหรือโปรแกรมเที่ยวของผมเลยแม้แต่นิดเดียว
แต่การเดินทางอันน่าตื่นเต้นและประทับใจที่สุดครั้งหนึ่งของผมเริ่มต้นง่ายๆ ขึ้นจากการที่คุณหน่อย-หัวหน้าทีมของเราเกิด “ปิ๊ง” ไอเดียขึ้นมาว่า พวกเราเสียเวลาลงทุนเดินทางไกลมาค่อนโลกจนถึงปลายสุดของอเมริกาใต้แล้ว น่าจะลองข้ามน้ำทะเลไปเหยียบดินแดนที่ได้ชื่อว่า “ทวีปที่ 7 – ทวีปสุดท้ายของโลก” กันสักหน่อยหนี่งนะ.........
จังหวะนั้นจะเป็นอย่างไรใครพูดอะไรหรือเห็นด้วยไม่เห็นด้วยอย่างไรผมไม่ทราบ จำได้แต่ว่าผมยกมือขึ้นสนับสนุนพร้อมกับบอกสั้นๆ ว่า “ไป” เป็นคนแรกเลยทั้งๆ ที่ยังไม่ทันได้สอบถามรายละเอียดใดๆ ด้วยซ้ำว่าค่าใช้จ่ายเท่าไรจะไปกันเมื่อไร และจะไปกันยังไง แต่สุดท้ายแล้วผมก็ได้ไปสัมผัสกับแอนตาร์กติกาในที่สุด การเดินทางไปทวีปที่ 7 ของโลกนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลย เพราพวกผมต้องเดินทาง
ข้ามไปยังชิลีแล้วเดินทางไปขึ้นเครื่องบินที่ปุนตา อารีนาส เพื่อบินต่อไปยังคาบสมุทรแอนตาร์กติกา ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของทวีปที่มีน้ำแข็งปกคลุมอยู่ตลอดทั้งปีทั้งชาติเช่นนี้
นอกจากจะไปไม่ได้ง่ายๆดังใจนักแล้ว ต้องอาศัยโชคช่วยหลายอย่างด้วย เพราะดินแดนแอนตาร์กติกานั้นมีความแปรปรวนสูงมากโอกาสที่จะเกิดพายุมีขึ้นได้ตลอดทุกเวลาทุกนาที ซึ่งบินไปลงได้แต่อาจจะบินกลับไม่ได้เนื่องจากมีพายุและคุณอาจจะต้องติดค้างอยู่บนนั้นนานเป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือนก็ไม่มีใครบอกได้......คงมีแต่พระเจ้าเท่านั้นที่รู้
แต่โชคดีก็เป็นของผมและทุกๆคนในทีมที่เราได้โชคและจังหวะเวลาที่ดีที่สุดของปีที่ฟ้าเปิดทำให้พวกผมบินไปลงได้สะดวกและมีเวลาสัมผัสกับแผ่นดินน้ำแข็ง แมวน้ำและสิงโตทะเล พร้อมกับเพนกวินอีกหลายชนิดนานถึง 5 ชั่วโมงเลยครับ


